ชื่อเรื่อง                  การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำควบกล้ำ สำหรับนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านบางเทา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

ผู้ศึกษา                   มณีรัตน์ แซ่ลิ้ว

สถานศึกษา           โรงเรียนบ้านบางเทา  ตำบลเชิงทะเล  อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

ปี                             2551

 

บทคัดย่อ

 

                    การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะฯ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้แบบฝึกทักษะฯ เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะฯ และเพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยด้วยแบบฝึกทักษะฯ โดยเป็นการศึกษากับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านบางเทา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยแบบฝึกทักษะฯ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีค่าดัชนีความสอดคล้องทั้งฉบับ (IOC) เท่ากับ 0.87 และมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.81 และแบบประเมิน เจตคติของนักเรียนมีค่าดัชนีความสอดคล้องทั้งฉบับ (IOC) เท่ากับ 0.82 และมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.75 การวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการวิเคราะห์เจตคติที่มีต่อการเรียน ใช้การหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์สถิติที ( t-test) สุดท้ายการวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิผลด้วยวิธีการของกูดแมน เฟลคเทอร์และชไนเดอร์ ผลการศึกษามีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะฯ มีประสิทธิภาพของกระบวนการเรียน (E1) เท่ากับ 84.26 มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 54.77 แสดงว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80 ตัวแรก ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะฯ ผลลัพธ์ (E2) เท่ากับ 88.21 มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 57.33 แสดงว่าแบบฝึกฯ มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80 ตัวหลัง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำควบกล้ำสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้ โดยได้เกณฑ์ประสิทธิภาพเท่ากับ 84.26 / 88.21

                   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจากการสอนด้วยแบบฝึกทักษะฯ พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนก่อนใช้และหลังใช้แบบฝึกทักษะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 และมีดัชนีชี้วัดประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะ ฯ เท่ากับ 0.52 ดังนั้นสรุปได้ว่า แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำควบกล้ำสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ผู้วิจัยได้จัดสร้างขึ้นสามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล และพบว่า เจตคติของนักเรียนระหว่างใช้แบบฝึกกับหลังจากใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำควบกล้ำมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  .01 โดยเจตคติหลังใช้แบบฝึกสูงกว่าก่อนใช้แบบฝึก