[x] ปิดหน้าต่างนี้
KMOBECMAXSITE 1.2.1
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
เรื่อง : พัฒนาการเด็ก


TOP HIT
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

- พัฒนาการเด็ก [ 630 ]
- กิจกรรมการเรียนรู้ปฐมวัย [ 476 ]
- ความจริง [ 441 ]
- Running [ 430 ]
- ครอบครัวอบอุ่น [ 426 ]
บทนำ พัฒนาการด้านร่างกายของเด็กวัยอนุบาล (อายุ 3-6 ขวบ) เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเลี้ยงดูในช่วงวัยนี้จึงมีผลต่อคุณภาพของการเจริญเติบโต ความแข็งแรงของร่างกาย การเคลื่อนไหวและการทรงตัว หากผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการและให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม เด็กจะสามารถพัฒนาความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่ เต็มศักยภาพ พัฒนาการด้านร่างกายสำคัญอย่างไร? ครอบครัวมีความสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย หากลูกน้อยเติบโตในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์ ร่วมกิจกรรมต่างๆกับลูก บุคคลในครอบครัวมีการดำเนินชีวิตที่เป็นสุข มีการจัดเวลา จัดสถานที่ให้ลูกเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย และเล่นอย่างปลอดภัย ลูกจะมีสุขภาพที่แข็งแรง เติบโตสมวัย มีอารมณ์เบิกบานแจ่มใส จะทำให้ลูกเกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่และดีที่สุดในทุกด้าน พร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป เพราะการที่ลูกได้ออกกำลังกาย ได้เล่นกีฬา ฝึกว่ายน้ำ หัดถีบจักรยาน วิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น ฯลฯ ที่เหมาะสมกับความสามารถและทักษะของลูก จะทำให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ได้บริหารปอด หัวใจ กล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค นอนหลับสบาย ขับถ่ายดี ผ่อนคลายความเครียด จิตใจแจ่มใส สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ส่วนเด็กที่ไม่ออกกำลังกายหรือออกกำลังกายน้อย จะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมลง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ปัจจุบันเด็กใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับสื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต หรือใช้โทรศัพท์มือถือ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรทำความเข้าใจกับลูกถึงการใช้เวลาที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด พูดคุยตกลงกันว่าจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร และร่วมกันทำตารางเวลาในแต่ละวันให้เหมาะสม เด็กวัยอนุบาลมีสมรรถนะและพัฒนาการด้านร่างกายอย่างไร? เด็กอายุ 3-6 ขวบ พัฒนาการด้านร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องความสูงและน้ำหนัก เด็กจะมีสัดส่วนของร่างกายใกล้เคียงกับผู้ใหญ่มากขึ้น แขนและขายาวขึ้น เคลื่อนไหวคล่องแคล่วขึ้น ชอบวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น ไม่อยู่นิ่ง พร้อมทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง ใช้กำลังมากขึ้น ชอบอยู่กลางแจ้ง นอกจากนี้ยังสามารถใช้มือในการหยิบจับสิ่งของต่างๆได้มากขึ้น เด็กจึงสามารถแต่งตัว หวีผม แปรงฟัน และทำงานที่ละเอียดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนมีดังนี้ ฟัน เด็กวัยนี้จะมีฟันน้ำนมครบ 20 ซี่ หลังจากนั้นฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดและจะมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ ซี่แรกที่ขึ้นมาเป็นฟันกรามซี่ล่าง เด็กจะปวดและรำคาญ อาจเป็นสาเหตุให้เบื่ออาหาร พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กควรช่วยทำความสะอาดปากและฟันให้กับเด็ก ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดหรือใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และระมัดระวังไม่ให้แปรงสีฟันกระทบเนื้อเยื่อในปาก เพราะจะทำให้เด็กเจ็บและไม่อยากแปรงฟัน กล้ามเนื้อใหญ่ จะมีความก้าวหน้ามากกว่ากล้ามเนื้อเล็ก เด็กวัยนี้สามารถบังคับการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดี เดินได้คล่อง สามารถวิ่งและกระโดดได้ดี ไม่ค่อยอยู่นิ่ง กล้ามเนื้อเล็ก เด็กวัยนี้ ยังจับดินสอไม่ค่อยถนัด แต่ก็สามารถวาดวงกลมหรือรูปเรขาคณิตได้ และเด็กจะทำได้ดีขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ยังไม่สมบูรณ์ เด็กวัยนี้จึงมีความยากลำบากในการใช้สายตาจับจ้องหรือเพ่งดูวัตถุเล็กๆ ดังนั้น ตัวหนังสือที่จะให้เด็กวัยนี้อ่าน จึงควรเป็นตัวโตๆ และความถนัดในการใช้มือซ้ายหรือขวาของเด็ก จะเห็นได้ชัดในวัยนี้ พ่อแม่จึงควรสังเกตความถนัดของเด็ก และอธิบายให้เด็กที่ถนัดซ้ายทราบว่าเป็นของธรรมดา ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ พัฒนาการด้านร่างกายตามวัยที่สำคัญของเด็ก สรุปได้ดังนี้ อายุ พัฒนาการด้านร่างกายตามวัยที่สำคัญของเด็ก 3 ปี ความสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 5-8 เซนติเมตร หรือ 2-3 นิ้วต่อปี (มีความยาวลำตัวมากกว่าแรกเกิด 2 เท่าในช่วงอายุนี้) น้ำหนักตัวขึ้น 1.4-2.3 กิโลกรัม ขาจะยาวกว่าแขน ผอมเก้งก้าง แลดูตัวสูงคล้ายผู้ใหญ่ ไม่เป็นเด็กอ้วนเหมือนสมัยทารก นอนนาน 10-12 ชั่วโมงในเวลากลางคืน รับประทานอาหารไม่ค่อยหก สามารถถือถ้วยน้ำดื่มแบบมีหู โดยน้ำไม่หก แปรงฟันและล้างมือเองได้ เริ่มฝึกการขับถ่าย ไม่ถ่ายเลอะ ต้องช่วยแต่งตัวอยู่บ้าง กระโดดขึ้นลงอยู่กับที่ กระโดดขาเดียวได้ รับลูกบอลด้วยมือและลำตัว เตะลูกบอลได้ เดินขึ้นบันไดสลับเท้าได้ ถีบจักรยาน 3 ล้อได้ เขียนรูปวงกลมตามแบบ ลากเส้นแนวตั้ง แนวนอนได้ จับดินสอคีบระหว่างนิ้ว 3 นิ้วได้ (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วหัวแม่มือ) ใช้กรรไกรมือเดียวได้ ต่อบล็อกหรือแท่งไม้ได้สูง 7 ชั้นหรือมากกว่า 4-5 ปี ความสูงโดยเฉลี่ย 102-114 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 14-18 กิโลกรัม กระฉับกระเฉง ไม่ชอบอยู่เฉย ชอบกระโดดข้ามสิ่งของเล็กๆ กระโดดขาเดียวอยู่กับที่ได้ ชอบปีนป่ายสิ่งต่างๆ เดินขึ้น-ลงบันไดสลับเท้าได้ เขียนรูปสี่เหลี่ยมตามแบบได้ ใช้กรรไกรเป็น ตัดกระดาษเป็นเส้นตรงได้ 5-6 ปี ความสูงโดยเฉลี่ย 107-117 เซนติเมตร น้ำหนักโดยเฉลี่ย 17-20.5 กิโลกรัม ศีรษะมีขนาดเกือบเท่าผู้ใหญ่ รู้จักความสะอาดและไม่ทำเลอะ สามารถเข้าห้องน้ำขับถ่ายเองและดูแลความสะอาดได้ ติดกระดุมและรูดซิปเอง รับประทานอาหารเองโดยใช้ช้อนส้อม โดยไม่หก กระโดดขาเดียวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ยืนขาเดียวได้ เรียนรู้ที่จะกระโดดข้ามหรือกระโดดเชือกได้ เดินขึ้น-ลงบันไดสลับเท้าได้อย่างคล่องแคล่ว เดินต่อเท้าได้ เดินถอยหลังตามเส้นได้ รับลูกบอลที่กระดอนขึ้นจากพื้นได้ด้วยมือทั้งสอง เขียนรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมตามแบบได้ ตัดกระดาษตามแนวเส้นโค้งที่กำหนด ใช้กล้ามเนื้อเล็กได้ดี เช่น ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า ฯลฯ ยืดตัว คล่องแคล่ว พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างไร? ครอบครัวมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย หากครอบครัวเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม ลูกได้รับความสัมพันธ์ที่อบอุ่นจากพ่อแม่ พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกิจกรรมต่างๆกับลูก บุคคลในครอบครัวดำเนินชีวิตเป็นสุข พ่อแม่ได้จัดเวลา จัดสถานที่ ให้ลูกเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย และเล่นอย่างปลอดภัย ลูกก็จะมีพัฒนาการที่เติบโตสมวัย มีอารมณ์ที่เบิกบานแจ่มใส ส่งผลให้ลูกพัฒนาอย่างเต็มที่และดีที่สุด พร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป แนวทางในการอบรมเลี้ยงดูลูก รับประทานอาหารตามวัย อาหารและโภชนาการที่ดีในวัยเด็กเล็ก เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสุขภาพและสติปัญญาที่ดีในระยะยาว เด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ไม่แข็งแรง มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า ซึ่งจะส่งผลเสียต่อลูกตลอดชีวิต ลูกควรได้รับอาหารที่พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย ได้รับอาหารสะอาด ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกกินอาหารรสธรรมชาติ ฝึกให้รับประทานได้หลากหลาย และฝึกให้กินผักผลไม้จนเป็นนิสัย ลูกควรได้รับอาหาร 3 มื้อหลัก และอาหารว่างที่มีคุณภาพ 2 มื้อต่อวัน นอกจากนี้ ลูกควรดื่มนมที่มีคุณค่า ได้ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวานหรือน้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ เพราะจะทำให้ลูกกินอาหารได้น้อย ทำให้ติดรสหวานและฟันผุได้ พ่อแม่ควรฝึกวินัยการกินอย่างเหมาะสมจนเป็นนิสัยให้กับลูก เวลารับประทานอาหารเป็นช่วงเวลาที่ดีที่พ่อแม่จะได้พูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับลูก จะช่วยให้ลูกเจริญอาหาร และได้เรียนรู้มารยาทที่เหมาะสม สร้างเสริมสุขนิสัยที่ดี การดูแลให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกปฏิบัติตัวให้มีสุขอนามัยที่ดีจนเป็นนิสัย ด้วยการฝึกให้ลูกปฏิบัติกิจวัตรประจำวันที่เหมาะสม เช่น สร้างนิสัยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันอย่างถูกวิธี ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้า เครื่องใช้ รวมถึงที่อยู่อาศัยให้สะอาด ปลอดภัย กำจัดแหล่งขยะให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ พักผ่อนเพียงพอ พ่อแม่ควรจัดให้ลูกได้นอนหลับเพียงพอ ซึ่งเด็กวัยนี้ควรมีเวลานอนต่อเนื่อง 8-10 ชั่วโมง และนอนกลางวันประมาณ 1-2 ชั่วโมง มีการออกกำลังกายพอสมควร จะส่งผลให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง เจริญเติบโตสมวัย มีจิตใจที่มั่นคง มีอารมณ์เบิกบานแจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการทำงาน สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีการปรับตัว และสามารถแก้ไขความขัดแย้งในทางสร้างสรรค์ได้ เปิดโอกาสให้ลูกปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง สอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เช่น กินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ ล้างหน้า ใส่รองเท้า แต่งตัว ติดกระดุม รูดซิป สิ่งสำคัญก็คือ เด็กๆเรียนรู้จากการกระทำของตนเอง ลูกจึงควรได้รับโอกาสจับแปรงสีฟัน ช่วยบีบยาสีฟันใส่แปรง และใช้แปรงสีฟันของตนเอง ลูกมีส่วนช่วยหยิบเสื้อผ้าจากตู้ หยิบเสื้อผ้าใส่เอง โดยอาจลองผิดลองถูก หัดรับประทานอาหารเอง หัดจับช้อน ตักอาหารใส่ปากด้วยตัวเอง ซึ่งจะต้องหกเลอะเทอะบ้างเป็นธรรมดา แต่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้ เล่นกับลูก ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเล่นเป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับเด็ก การเล่นและของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย นับเป็นหัวใจสำคัญของการเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาการที่สอดคล้องกับธรรมชาติและความต้องการของเด็กวัยนี้ กระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อเล็ก จัดหาของที่มีรูปร่างและขนาดต่างๆให้ลูกเล่น หัดขีดเขียนบนกระดาษหรือพื้นทราย ให้ลูกมีโอกาสช่วยงานบ้านง่ายๆ เช่น ซักผ้า เก็บผ้า พับผ้า ช่วยกรอกน้ำใส่ขวด จัดโต๊ะอาหาร เรียงช้อน กระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ ให้ลูกหัดเดินทรงตัวบนไม้กระดานแผ่นเดียว หัดยืนทรงตัวขาเดียว และกระโดดข้ามเชือกเล่นโยน-รับและเตะลูกบอลฝึกความแคล่วคล่องว่องไว ประเมินพัฒนาการด้านร่างกายของลูกได้อย่างไร? พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูสามารถประเมินพัฒนาการของลูกได้ตามวัย ดังนี้ อายุ พัฒนาการ ทำได้ ทำไม่ได้ 3-4 ขวบ ขึ้นบันไดสลับเท้าโดยใช้มือจับราวบันได วิ่งและหยุดโดยไม่ล้ม กระโดดขาเดียวอยู่กับที่ รับลูกบอลด้วยมือและลำตัว ร้อยวัสดุที่มีรูขนาดใหญ่ 1 นิ้วต่อกันประมาณ 5-6 ลูก จับกรรไกรมือเดียว ตัดกระดาษให้ขาดออกจากกัน ต่อบล็อกแนวตั้งซ้อนกัน 8 ชิ้น ขีดเขียนเส้นตรง เส้นโค้งอย่างอิสระ ยังไม่สื่อความหมาย ระบายสีลงในรูปภาพขนาดใหญ่ออกนอกเส้นบ้าง เขียนรูปวงกลมตามแบบ 4-5 ขวบ ขึ้น-ลงบันไดสลับเท้าโดยไม่ต้องใช้มือจับราว วิ่งอ้อมหลักโดยไม่ชน กระโดดขาเดียวอยู่กับที่อย่างต่อเนื่อง รับลูกบอลด้วยมือทั้งสอง ร้อยวัสดุที่มีรูขนาด 1/2 นิ้ว ตัดกระดาษตามแนวเส้นตรง ต่อบล็อกแนวตั้งซ้อนกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน 5-6 ขวบ ขึ้น-ลงบันไดสลับเท้าอย่างคล่องแคล่ว วิ่งและหยุดทันทีโดยไม่เสียการทรงตัว กระโดดขาเดียวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง รับลูกบอลที่กระดอนจากพื้นด้วยมือทั้งสอง ตัดกระดาษตามแนวเส้นโค้งที่กำหนด ต่อบล็อก 10 ชิ้นเป็น รูปต่างๆ ระบายสีลงในรูปภาพไม่ออกนอกเส้น เขียนรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมตามแบบ มีมุมชัดเจน เกร็ดความรู้เพื่อครู ครูควรพัฒนารูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างกันของเด็กแต่ละคนผ่านกิจกรรมหลักที่สำคัญ คือ พัฒนาเด็กผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ดนตรีช่วยพัฒนาทั้งกล้ามเนื้อใหญ่และการทรงตัว เมื่อได้ยินเสียงเพลง เด็กๆก็ขยับแข้งขยับขา ตบมือ กระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะเสียงเพลง เด็กบางคนอาจคิดท่าทางประกอบเพลงขึ้นเอง ทั้งชูมือ ยกแขน ยกขา เคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง การฟังดนตรี 20 นาทีต่อวัน จะช่วยให้ระบบการเต้นของหัวใจและระบบอื่นๆในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น พัฒนาเด็กผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เด็กเริ่มสนใจศิลปะตั้งแต่ในวัยเด็กเล็ก สนใจที่จะขีด เขียน ระบายสี จึงเหมาะที่จะปูพื้นฐานด้านศิลปะให้กับเด็กวัยนี้ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ความสัมพันธ์ระหว่างมือและตา เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเขียน อีกทั้งยังพัฒนาการคิดในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านการปั้นและการระบายสี ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกสนุกสนาน ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน และร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ เป็นธรรมชาติ พัฒนาเด็กผ่านกิจกรรมกลางแจ้ง ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกลางแจ้งในเวลาเช้า เช่น เล่นเครื่องเล่นสนาม เล่นกับอุปกรณ์กีฬา ได้วิ่ง กระโดด กายบริหาร ฯลฯ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรง
| เข้าชม : 629 |
ผู้เขียน : รัตนา อัครพลภิญโญ
หน่วยงาน : โรงเรียนบ้านบางเทา
พฤหัสบดี ที่ 29 เดือน มกราคม พ.ศ.2558
2.5 stars เฉลี่ย : 2.5 จาก 8 ครั้ง.


เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์จัดการความรู้
สิทธิของสมาชิก สามารถบันทึกขุมความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และดาวน์โหลดได้
ความคิดเห็นที่ 1
พฤหัสบดี ที่ 29 เดือน มกราคม พ.ศ.2558 เวลา 16:18:50
เป็นบทความที่ดีมากๆครับ
โดย : นายไพรัช นุ่นรักษา    ไอพี : 202.29.178.247